โคเออร์แม่สะเรียงจัดการอบรมส่งเสริมความเข้าใจกระบวนการคุ้มครองเด็กให้กับเยาวชนในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ

   โคเออร์แม่สะเรียงดำเนินกิจกรรมอบรมเพื่อส่งเสริมความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองเด็กให้กับเยาวชนในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ละอูนเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 มีเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 51 คน เป็นหญิง 34 คน ชาย 17 คน และที่บ้านแม่ลามาหลวง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 มีเยาวชนเข้าร่วมจำนวน 48 คน เป็นหญิง 31 คน และ ชาย 17 คน

   วิธีการดำเนินกิจกรรมเริ่มด้วยการสำรวจทัศนคติเยาวชนต่อปัญหาการใช้ความรุนแรงกับเด็ก โดยตั้งโจทย์ตัวอย่างสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เยาวชนผู้ร่วมกิจกรรมช่วยกันพิจารณาและวิเคราะห์แสดงเหตุผลตามความคิดเห็น ว่าเป็นสถานการณ์ที่เด็กทำได้ หรือสถานการณ์ที่ไม่ควรทำ หรือสถานการณ์ที่ห้ามทำเด็ดขาดและเพราะอะไร ตัวอย่างคำถามได้แก่ เด็กอายุ 4 ปี 10 และ 13 ปี อยู่บ้านตามลำพังได้หรือไม่ เด็กๆไม่ไปโรงเรียนได้หรือไม่ เด็กลักขโมยขนมต้องถูกลงโทษอย่างไร การตีเด็ก 2 ขวบที่ปัสสาวะรดกางเกงทำได้ไหม เด็กไม่อยากอยู่บ้านเพราะมักถูกทำโทษอย่างรุนแรง เป็นต้น

   จากนั้นเป็นการเข้าสู่กิจกรรมที่ 2 คือสำรวจการรับรู้สถานการณ์ปัญหาและการให้ความช่วยเหลือ โดยให้เยาวชนช่วยกันระดมความคิด ถ่ายทอดปัญหาของเด็กในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ สรุปออกมาได้แก่ ปัญหาพฤติกรรมของเด็ก สถานการณ์ภัยธรรมชาติที่สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิต ปัญหาอุปกรณ์การเรียน เช่น เครื่องเขียนและชุดนักเรียนไม่เพียงพอ ปัญหาการใช้ความรุนแรงกับเด็ก เป็นต้น เมื่อเยาวชนแสดงทัศนคติและรับรู้สถานการณ์ตลอดจนตระหนักถึงประเภทของปัญหาแล้ว วิทยากรตั้งคำถามว่า หากพบเด็กที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกทำร้ายร่างกาย เราควรเข้าไปช่วยเหลือหรือไม่ ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมตอบว่าสมควรเข้าไปช่วยเหลือ วิทยากรจึงสอบถามว่าเยาวชนจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ไหม แล้วมีหน่วยงานอื่นที่รู้จักและไว้วางใจที่จะขอให้ช่วยเหลือเด็กแทนเราได้หรือไม่ วิทยากรจึงนำเข้าสู่กิจกรรมที่ 3 โดยให้เยาวชนบอกชื่อหน่วยงานที่ตัวเองรู้จัก จากนั้นวิทยากรได้อธิบายเพิ่มเติมและแนะนำชื่อหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งองค์กรเอกชน องค์กรภาคชุมชน ตลอดจนคณะกรรมการพื้นที่พักพิงชั่วคราว ฯ ที่มีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ตลอดจนปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในชุมชน

   จากนั้นเข้าสู่กิจกรรมที่ 4 คือบทบาทของเด็กและเยาวชนเมื่อพบเห็นเหตุการณ์ที่ไม่ดีที่เกิดขึ้น โดยให้เริ่มจากวิธีการสังเกต จดจำรายละเอียดข้อมูล จากนั้นนำความไปแจ้งกับผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ หรือหน่วยงานที่เราได้กล่าวถึงแล้วเพื่อให้ความช่วยเหลือเพื่อนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรง ตามแนวทางกระบวนการส่งเด็กเข้าสู่ความคุ้มครองต่อไป

เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมที่บ้านแม่ละอูน

เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมที่บ้านแม่ลามาหลวง